วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555


Happy New Year 2013 



      
ความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่  Happy New Year 

       วันปีใหม่ (New Year) มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน 
  

  
ความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่ไทย

      ในอดีตวันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน

      การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยะคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

วันปีใหม่

      การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

      
ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม 

       1.
ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
       2.
เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
       3.
ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
       4.
เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่

       1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
       2.
การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
       3.
การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ

     วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น
 


 
 
 


กิจกรรมในวันขึ้นปีใหม่

      วันปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขวัญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย

เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่

     เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 

ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่

     การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่างๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่างๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

    
สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

    
ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า "ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่างๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน"

วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555


พ่อของฉัน



     หากจะกล่าวถึงผู้ชายคนหนึ่ง ผู้ชายที่ไม่ใช่ซุปเปอร์แมนแต่อ้อมแขนของเขาก็อบอุ่นเสมอ ผู้ชายคนนั้นไม่ใช่บุคคลในฝันที่พร่ำเพ้อแต่ก็เป็นยอดมนุษย์ในดวงใจใครหลายๆคน ยามใดที่ทุกข์ท้อกำลังใจมากมายเขามีให้ ผู้ชายที่รักเราด้วยหัวใจ ผู้ชายคนนั้นไม่ใช่ใคร เขาคือผู้ชายที่เราเรียกว่า “พ่อ          

     ครอบครัวของฉันประกอบด้วย พ่อ แม่ พี่สาวสองคนและฉัน เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวของฉันมีมาก จึงทำให้พ่อต้องทำงานอย่างหนัก  ในตอนแรกพ่อของฉันปั่นจักรยานขายไอศกรีมแต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจทำให้เงินไม่พอที่จะเลี้ยงครอบครัว ในบ้านของฉันตอนนั้นเรียกได้ว่าข้าวสารแทบไม่มีกรอกหม้อ พ่อจึงอดอาหารเพื่อให้ฉันและพี่ๆได้อิ่ม พ่อของฉันจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพไปทำงานที่โรงฆ่าสัตว์ เพราะรายได้ที่จะได้รับมากกว่า พ่อของฉันไม่ชอบฆ่าสัตว์ ฉันคิดว่าพ่อคงไม่อยากทำอาชีพนี้เท่าไรนัก พ่อฉันกล่าวว่า พ่อรู้ว่างานนี้เป็นงานที่บาปแต่พ่อก็พร้อมที่จะทำเพื่อครอบครัวของพ่อ ขอให้เป็นอาชีพที่สุจริต คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ถ้าพ่อเลือกเกิดได้พ่อก็อยากมีฐานะการเงินที่ดี ลูกๆของพ่อจะได้สบายแต่พ่อก็พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกๆของพ่อสบายและมีความสุขหลังจากนั้นครอบครัวของฉันมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พ่อจึงส่งฉันเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีๆ เพื่อในอนาคตจะได้ไม่ลำบาก พ่อตัดสินในเลิกทำอาชีพนี้และนำเงินเก็บที่มีอยู่ดัดแปลงบ้านเปลี่ยนเป็นอู่ซ่อมรถเล็กๆ ร้านของพ่อไม่เคยมีวันหยุด แต่เมื่อใดที่พ่อมีเวลาว่าง พ่อมักจะสอนข้อคิดดีๆเสมอ โดยยกตัวอย่างความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับพ่อ ยกตัวอย่างเช่น พ่อสอนให้ฉันมองคนอย่างเท่าเทียมกันไม่เขาจะพิการ จน หรือ รวย แต่เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเป็นในแบบที่เราต้องการได้ ชีวิตเราเราเป็นคนกำหนดเอง” ฉันยึดประโยคนี้เป็นคติประจำใจฉัน มันทำให้ฉันต้องปฏิบัติตนให้ดี  5 ปีผ่านไป ร้านซ่อมรถของพ่อขยายกิจการใหญ่ขึ้น แต่พ่อก็สอนฉันว่า อย่าลืมว่าเราเคยมาจากจุดๆไหน เมื่อเรามีมากขึ้นเราต้องรู้จักการให้คนที่มีน้อยกว่าเรา อย่าเบียดเบียนผู้อื่น ซื่อสัตย์  และที่สำคัญที่สุดคือ “พอเพียง” ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้รู้ว่าควรจะปฏิบัติตนเช่นไร รู้จักประมาณตนและมีเหตุผล  ตอนฉันเด็กๆ พ่อมักจะเล่าพระราชกรณียกิจต่างๆที่พระองค์ท่านทำเพื่อประชาชนชาวไทย พ่อบอกว่าเราไม่มีอะไรจะตอบแทนพระองค์ท่านได้นอกจากประพฤติตนเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ ฉันตระหนักในทุกสิ่งที่พ่อทั้งสองได้ทำเพื่อฉัน เพื่อปวงชนชาวไทย ดังนั้นฉันจะนำคำสอนที่พ่อของฉันทั้งสองคนได้สอนฉันไว้ไปปฏิบัติ เพราะคงไม่ใครหวังดีกับฉันเท่ากับบุคคลสองท่านนี้อีกแล้ว          

     เปรียบพ่อดั่งผู้ถือหางเสือนาวาชีวิตให้หันเหไปตามกระแสน้ำแห่งความเมตตา ดั่งหัวรถจักรนำขบวนผู้โดยสารที่ร่วมชีวิตไปตามเส้นทางศีลธรรมที่ถูกต้องสู่สถานีแห่งความสำเร็จอย่างปลอดภัยและสง่างาม จะมีใครเล่าที่คอยอุ้มชูเลี้ยงดูเราตั้งแต่เรายังเด็ก คอยป้อนอาหารป้อนน้ำ ทำงานหนักเพื่อให้ครอบครัวมีความสุข คอยอยู่ข้างเรายามที่เราทุกข์หรือร้องไห้ ทำอย่างได้เพื่อเรา หยาดเหงื่อแรงกายของพ่อที่ทำเพื่อฉัน ฉันไม่สามารถหาอะไรตอบแทนคือพ่อได้ นอกจากตั้งใจเรียนหนังสือ ประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ฉันจะทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อของฉันมีความสุข ฉันจะทำให้ดีที่สุด ถึงแม้ว่าความการกระทำของฉันจะเป็นหนึ่งในล้านการกระทำทั้งหมดที่พ่อทำเพื่อฉันก็ตาม และคงไม่มีรักไหนที่ยิ่งใหญ่เท่ากับรักของพ่อตราบชั่วนิรันดร์